ในการศึกษาวางแผนระบบขนส่งมวลชนนั้น ที่ปรึกษาจะใช้หลักการวางแผนที่ครอบคลุมอายุรวมของโครงการ (Project Life Cycle) ในระยะยาวซึ่งสามารถให้บริการผู้โดยสารได้อย่างยาวนานคุ้มค่าการลงทุนก่อสร้างระบบที่มีมูลค่าการลงทุนสูง ดังนั้นระบบขนส่งมวลชนที่จะได้รับการคัดเลือกนั้น จึงพิจารณาจากปริมาณผู้โดยสารที่คาดการณ์ว่าจะมาใช้โครงการในปีอนาคตที่เป็นปีปลายสุดของการคาดการณ์ โดยปกติจะใช้ปีที่ 30 นับจากปีที่เริ่มเปิดใช้งาน (ซึ่งในการศึกษานี้เป็นปี พ.ศ. 2590) หากปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้ระบบในอนาคตมีมากกว่าสมรรถนะของระบบที่ออกแบบไว้ การขยายขีดความสามารถของระบบแม้นว่าจะสามารถทำได้ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่หากปริมาณผู้โดยสารที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตมีจำนวนน้อยกว่าสมรรถนะของระบบที่ออกแบบไว้ จะเกิดปัญหาด้านการลงทุนที่เกินกว่าความต้องการเดินทางของผู้โดยสารอันกลายเป็นการลงทุนระบบที่ใหญ่เกินความจำเป็น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความคุ้มค่าด้านการเงินของผู้ลงทุนโครงการ สำหรับระบบขนส่งมวลชนสายเมืองนครราชสีมาได้คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในชั่งโมงเร่งด่วนเช้าสูงสุดในปีที่ 30 (พ.ศ. 2590) เท่ากับ 11,600 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ดังแสดงในรูป

จากปริมาณผู้โดยสารดังกล่าวข้างต้นนั้น ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพสามารถรองรับการให้บริการต่อผู้โดยสารระยะเร่งด่วน สำหรับเมืองนครราชสีมา ได้แก่ ระบบ BRT with exclusive right of way,Monorail, และLRT
สำหรับแนวเส้นทางระยะเร่งด่วน ตามแนวถนนมิตรภาพ มีความจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดเส้นทางบนพื้นที่เขตทางจำกัด เนื่องจากสภาพการจราจรมีความติดขัดหนาแน่น โดยมีความยาวเส้นทางรวมประมาณ 14 กม. เมื่อประเมินความเหมาะสมของระบบขนส่งมวลชนทั้ง 3 ประเภท ดังนี้
- ระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) แบบยกระดับ เป็นระบบที่ใช้ทางวิ่งยกระดับลักษณะคล้ายกับทางด่วนสองช่องทางจราจร ใช้รัศมีวงเลี้ยวแคบได้เพียง 30 ม. ไต่ระดับลาดชันได้สูงสุด 8% ทำให้ลดพื้นที่เวนคืนได้ ใช้โครงสร้างทางวิ่งขนาดปานกลาง (คิดเป็นร้อยละ 70 เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำหนักรวมของระบบ MRT) จึงสามารถก่อสร้างได้บนพื้นที่จำกัด
- ระบบยกระดับ Monorail ก่อสร้างได้ง่ายที่สุดบนพื้นที่เขตทางจำกัด ใช้รัศมีวงเลี้ยวแคบได้เพียง 70 ม. ไต่ระดับลาดชันได้สูงสุด 6% ทำให้ลดพื้นที่เวนคืนได้ ใช้โครงสร้างทางวิ่งขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีน้ำหนักรวมของขบวนรถและโครงสร้างทางวิ่งน้อยที่สุด (คิดเป็นร้อยละ 60 เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำหนักรวมของระบบ MRT) จึงสามารถก่อสร้างได้ง่ายบนพื้นที่จำกัด
- ระบบยกระดับ LRT เป็นโครงสร้างทางวิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับระบบ MRT โดยมีน้ำหนักรวมของขบวนรถและโครงสร้างทางวิ่งปานกลาง (คิดเป็นร้อยละ 80 เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำหนักรวมของระบบ MRT)
การประเมินความเหมาะสมของระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมาจะพิจารณาระบบขนส่งมวลชนขนาดเบา ได้แก่ ระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษแบบยกระดับ (Elevated BRT) ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) และระบบรถไฟฟ้ามวลชนขนาดเบา (LRT)
การพิจารณาเชิงเปรียบเทียบระบบขนส่งมวลชนที่มีความเหมาะสมต่อแนวเส้นทางระยะเร่งด่วนของระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา มีรายละเอียด ดังนี้

การศึกษาความเหมาะสมของระบบขนส่งมวลชนสำหรับเส้นทางระยะเร่งด่วนของระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมาในเบื้องต้น ที่ปรึกษาได้พิจารณาจากปัจจัยหลายๆด้าน ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพของถนนในแนวเส้นทาง ปริมาณผู้โดยสารในอนาคต ความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารของแต่ละระบบ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจและการเงินการลงทุน เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกระบบ ซึ่งผลการศึกษาแสดงไว้ ดังนี้
